เมื่อการศึกษาติดกับดักการแข่งขัน บทสัมภาษณ์ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล

เมื่อการศึกษาติดกับดักการแข่งขัน บทสัมภาษณ์ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล

สัมภาษณ์ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ, ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ทุก ๆ ปีในช่วงปิดเทอมที่มีการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ประเด็นปัญหาการศึกษาไทยมักถูกยกขึ้นมาเป็นข่าวอยู่เสมอ ก่อนจะหายเงียบไปเมื่อพ้นช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ตลอดปีสองปีมานี้ ปมปัญหาด้านการศึกษาปรากฏเป็นข่าวดังค่อนข้างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวิชาหน้าที่พลเมือง (ปี ๒๕๕๗) นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (ปี ๒๕๕๘) การวัดผล PISA ที่เด็กไทยได้คะแนนต่ำกว่าเพื่อนบ้าน (ปี ๒๕๕๙) หรือล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ กับการอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์สมัครสอบคัดเลือกเป็นครูได้จนเกิดกระแสคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มวิชาชีพครู

ต้องยอมรับว่าประเด็นการศึกษาเป็นเรื่องถกเถียงในสังคมไทยมายาวนาน คำว่าปฏิรูปการศึกษาได้ยินกันจนเป็นเรื่องชาชิน ล่าสุดความสำเร็จด้านรายได้กว่า ๑๐๐ ล้านบาทของภาพยนตร์ไทยเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ที่ออกฉายเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นภาพยนตร์ตีแผ่ระบบการศึกษาไทย และธุรกิจโกงข้อสอบ

ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) มักแสดงความเห็นวิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ ด้านการศึกษาผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้สัมภาษณ์สื่อหลายแขนง รวมถึงมีส่วนร่วมจัดเสวนาเรื่องการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเห็นว่าปัญหาการเมืองกับการศึกษานั้นมีคนพูดถึงน้อย และในฐานะผู้ฝึกหัดครู (Teacher Educator) ที่เข้าถึงปัญหาจากประสบการณ์ตรงของการจัดการเรียนการสอน ยิ่งต้องออกมาพูดให้ความเห็นแทนครูที่อาจพูดไม่ได้เพราะอยู่ภายใต้กระทรวงฯ ซึ่งต้องกระโดดเต้นตามนโยบายที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของ “ผู้ใหญ่” มากหน้าหลายตาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปในช่วงเวลาสั้น ๆ

สารคดี เปิดวงสนทนากับอาจารย์อรรถพล ตั้งแต่ความพยายามปฏิรูปการศึกษาจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบันที่เหมือนจะยังก้าวเดินไปไม่ถึงไหน เพราะหากคาดหวังให้เยาวชนพัฒนาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมก้าวสู่สังคมยุคใหม่ ปัญหาการศึกษาคือรากฐานสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขและจัดการ

แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากความเข้าใจในระบบการศึกษาของไทยอย่างแท้จริง

เริ่มสนใจปัญหาการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไร
อยู่ในระบบก็จะโดนถามบ่อย ๆ อยู่แล้ว ผมทำงานทางสังคมศึกษาก็จะคุยกันในเชิงการเมืองทางการศึกษา ผมย้ายจากการสอนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษามาสอนที่คณะปี ๒๕๔๐ ซึ่งมาก่อนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ เข้ามาทันวงคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษาตอนนั้น เลยได้เห็นตั้งแต่แนวคิดว่าคืออะไร ทำมา ๑๘ ปีได้เห็นทั้งความสำเร็จ ล้มเหลว และหมดแรงต่อหน้า งานช่วง ๗-๘ ปีหลังมานี้ทำให้เรายิ่งสนใจเพราะได้ไปทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางตามต่างจังหวัดบ่อย ได้เห็นงานในภาคสนาม ได้รับข้อมูลจากประสบการณ์ตรงมากกว่าข้อมูลเชิงนโยบาย ผมทำเรื่องการอบรมครู ลูกศิษย์ผมเป็นครูเยอะ เลยได้รับฟังเสียงบ่นจากครู เวลาไปเยี่ยมโรงเรียนก็เห็นภาพงานโรงเรียนที่มีปัญหา เราคิดว่าต้องส่งเสียงบอกให้สังคมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้ว ๔-๕ ปีหลังนี้ไม่มีใครพูดเรื่องการศึกษา มันเงียบมาก เหลือคนพูดนับคนได้ เพราะหลายคนไปเป็นคนทำนโยบายเองก็พูด
มากไม่ได้ บวกกับลูกศิษย์ที่เป็นครูเขาก็พูดไม่ได้เพราะมีต้นสังกัด

ผมทำงานด้านหลักสูตรและการสอน ไม่ได้เรียนเรื่องนโยบายการศึกษามาโดยตรง แต่จำเป็นต้องมาศึกษา โดยเฉพาะนโยบายที่มีผลกระทบกับหลักสูตร ทำให้หลักสูตรโรงเรียนแกว่งไปแกว่งมาตลอดเวลา อย่างเวลาที่เป็นคณะทำงานให้กระทรวงฯ เปลี่ยนรัฐมนตรีแต่ละครั้งสิ่งที่ทำ ๆ อยู่ก็ถูกระงับไป เราไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนจะเปลี่ยนอีก เราเห็นภาพตรงกลางระหว่างระดับนโยบายกับภาคปฏิบัติ ระดับคนทำงานที่เป็นข้อต่อระหว่างระดับบนกับระดับล่าง รู้ว่าเขาทำงานยาก หลายเรื่องเขาพูดเองไม่ได้ภายใต้อำนาจรัฐ ถ้าออกมาพูดอะไรในที่แจ้งเขาจะโดนก่อน

ทำไมช่วงที่ผ่านมาถึงมีคนพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ในการศึกษาน้อยลง
สิบถึงยี่สิบปีก่อนเรามีอาจารย์หลายคนทำหน้าที่นั้นอยู่ เช่น ท่าน ศ. ดร. ไพฑูรย์ (สินลารัตน์) ศ. ดร. พฤทธิ์ (ศิริบรรณพิทักษ์) สมัยยังเป็นคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็มีบทบาทสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจด้านนโยบาย เวลาโต้แย้งกับกระทรวงศึกษาธิการจะมีน้ำหนัก แต่ตอนนี้อาจารย์รุ่นนั้นเกษียณหมดแล้ว บางท่านลดบทบาทในการทำงานการศึกษาลง คนในกระทรวงฯ ที่เป็นนักวิชาการก็น้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจาก พ.ร.บ. การศึกษาฯ ปี ๒๕๔๒ ที่มีการปรับโครงสร้างกระทรวงฯ เพราะต้องการให้กระทรวงฯ เล็ก ตอนนี้เราไม่มีคนอย่างคุณหญิงกษมา (วรวรรณ ณ อยุธยา) ที่จบโดยตรงทางด้านการศึกษาทั้งระดับปริญญาโท-ปริญญาเอกจากต่างประเทศ มีวิสัยทัศน์มองอะไรได้ไกล อธิบายโต้แย้งนักการเมืองได้บนพื้นฐานทางวิชาการ คนทำหลักสูตรในกระทรวงฯ ปัจจุบันมีคนจบปริญญาเอกด้านทำหลักสูตรไม่กี่คน ถูกให้บทบาทเป็นแค่ผู้ประสานงาน ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนักวิชาการจริง ๆ พอฝ่ายการเมืองเข้าแทรก กระทรวงฯ แกว่งไปตามรัฐมนตรี เสียงคนเหล่านี้ก็ยันไม่ได้ ไม่มีอำนาจต่อรอง

ตลอด ๑๐ ปีมานี้การเมืองทำให้การศึกษารวนมาก ๆ ตามสถิติ ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้เราเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมา ๒๐ คนแล้ว ส่วนใหญ่ก็คิดอะไรที่เห็นผลง่าย ๆ สั้น ๆ เร็ว ๆ มีความเข้าใจผิด ๆ เรื่องการศึกษามาตลอด ยิ่งการศึกษามีปัญหา ถูกคนโจมตีเยอะ หลายคนที่มีความหวังดีพยายามจะเข้ามาช่วย แต่ทำไปโดยไม่มีความรู้จริง ๆ ก็ยิ่งกลายเป็นดาบสองคม

กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงใหญ่ที่มีงบประมาณสูงมากอันดับต้น ๆ งบที่ได้ไปไม่ช่วยอะไรเลยหรือ
ปัญหาคือใช้เงินงบประมาณอย่างไร มีความเชื่อมา ๑๐ กว่าปีแล้วว่าต้องเพิ่มเงินเดือนครู ให้ครูมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่กลายเป็นการเพิ่มเงินให้กับครูอาวุโส ซึ่งครูต้องวิ่งทำผลงานให้ได้วิทย-ฐานะ ทั้งที่จริง ๆ หลายประเทศเวลาเพิ่มเงินเดือนครู เขาจะให้กับครูรุ่นใหม่ ๆ เพื่อให้ตอนเริ่มต้นทำงานครูจะได้ตั้งต้นชีวิตได้เร็ว ปีที่เหลือว่าไปตามภาระงาน แต่ของเรายิ่งมีวิทยฐานะสูง คศ. ๒ คศ. ๓ (ตำแหน่งวิทยฐานะครูชำนาญการ และครูชำนาญการพิเศษ) เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งนี่เท่าระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยเลย ใครมุ่งมั่นเอาดีกับเรื่องนี้จริง ๆ อาจเกษียณด้วยรายได้เฉียดแสน รัฐลงเงินเยอะขึ้น แต่ไม่การันตีประสิทธิภาพที่ได้ตามเงิน

ในกระทรวงฯ ก็มีหลายสำนัก แต่ละสำนักต้องการใช้งบ ขับเคลื่อนโจทย์ตัวเอง ใช้งบจัดอีเวนต์ให้ผู้ใหญ่ขึ้นเวทีบ้าง หรือจัดแข่งขันวิชาการเพชรยอดมงกุฎ หรืองานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติประจำปีซึ่งใช้เงินเยอะมาก แต่คำถามคือส่งผลถึงเด็กจริงหรือเปล่า โรงเรียนอาจคัดเด็กเก่ง ๆ มาแข่งกัน แต่คุณภาพการศึกษาไปไม่ถึงเด็กทุกคน งบประมาณที่ใช้จริง ๆ เกี่ยวกับเด็กโดยตรงก็มี เช่น เงินอุดหนุนโรงเรียนตามรายหัวเด็ก ค่าอาหาร ชุดนักเรียน แต่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เอาเข้าจริง ๆ อาจไม่ถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์

อาจารย์เคยกล่าวว่าการศึกษาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่การศึกษาควรช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
การศึกษาเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ใน พ.ร.บ. การศึกษาฯ ปี ๒๕๔๒ พอขยับการศึกษาภาคบังคับเป็น ๙ ปี และเพิ่มการศึกษาให้เปล่าเป็น ๑๒ ปี ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งที่แต่ก่อนหลุดออกจากระบบหลังจบ ม. ๓ มีโอกาสได้เรียนมากขึ้นชัดเจน การที่รัฐมีเงินอุดหนุนต่อหัวทำให้เด็กมีโอกาสจบถึง ม. ๖ พร้อมมีกองทุน กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) สมทบให้หากที่บ้านส่งไม่ไหว ได้เรียนจบ ม. ๖ จบ ปวช. ๓ ก็มีโอกาสได้เงินเดือนมากขึ้น หรือถ้าจะเรียนต่อ จบ ปวช. ๓ ก็มีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรีได้เหมือน ม. ๖

แต่ความเหลื่อมล้ำที่ผมพูดถึงคือความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพ ตอนนี้โรงเรียนขนาดใหญ่ดึงดูดเด็กเข้าไปโรงเรียนเยอะมาก ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีเด็กเข้าเรียนลดลงเรื่อย ๆ เพราะอัตราการเกิดเราน้อยลงอยู่แล้ว บวกกับความนิยมด้วย สมัยก่อนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ กับโรงเรียนวัดราชบพิธที่ห่างกันแค่ป้ายรถเมล์เดียว จำนวนเด็กไม่แตกต่างกันขนาดนี้ ตอนนี้จำนวนเด็กต่อห้องต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้วนะ ระดับมัธยมฯ ต้น สวนกุหลาบฯ เรียนต่อห้อง ๕๐ กว่าคน ราชบพิธอาจเหลือแค่ ๓๐ กว่าคน พ่อแม่ในเขตนั้นถ้าให้เลือกได้ก็จะให้ลูกเรียนสวนกุหลาบฯ เพราะมันคือการลงทุนกับต้นทุนทางสังคมของเด็ก โรงเรียนใหญ่ ๆ ดัง ๆ มีนักเรียนมาก ทำแบบนี้โรงเรียนอื่นจะอ่อนแอลง เพราะเมื่อเด็กน้อยก็จะได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนน้อยลงตามรายหัว เลยเกิดการแย่งตัวเด็กกัน

เรื่องนี้ชัดมากตามต่างจังหวัด โรงเรียนใหญ่ ๆ ประจำจังหวัดจะดูดเด็กไว้เยอะมาก แต่โรงเรียนประจำอำเภอห่างไกลเหลือเด็กน้อย พ่อแม่จึงทุ่มเทให้ลูกไปเรียนในเมือง หวังให้เรียนโรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนประจำจังหวัดก็จะเต็มไปด้วยทรัพยากร ยิ่งมีศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครอง ทรัพยากรก็ยิ่งเยอะ ส่วนโรงเรียนประจำอำเภอก็เล็กลงเรื่อย ๆ สุดท้ายเด็กจะถูกบีบให้ไปเรียนในเมืองใหญ่

เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้
เพราะอยู่บนฐานคิดว่าการศึกษาคือการแข่งขัน เป็นเรื่องที่หลงทางกันทั้งโลก สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชาติต้นแบบใช้แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ อยากให้โรงเรียนแข่งกันเอง แต่ปัญหาคือแข่งแล้วมีคนแพ้ เขาไม่ได้คิดแบบรัฐสวัสดิการ ขณะที่ประเทศซึ่งเน้นการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเช่นฟินแลนด์จะคิดอีกแบบ เขาคิดว่าต้องทำโรงเรียนใกล้บ้านทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ดีให้ได้ เพื่อจูงใจพ่อแม่ให้เชื่อมั่นในการจัดการศึกษาของรัฐ แต่ของเราเหมือนกับประเทศอื่นทั้งโลกคือตามกระแสการศึกษาอเมริกาที่เน้นการแข่งขัน ซึ่งเข้มข้นมานานจากระบบเอนทรานซ์ มาเป็นระบบสอบรับตรง รับกลาง แล้วยังมีการประเมินโรงเรียนที่มีตัวชี้วัดกำกับ ทั้งหมดทำให้โรงเรียนต้องวิ่งไปกับการแข่งขัน

แม้แต่ระดับโรงเรียนอนุบาลก็ต้องแข่งขันกันแล้ว
เดี๋ยวนี้ติวเด็กอนุบาล ติวเด็กเข้า ป. ๑ เป็นเรื่องปรกติไปแล้ว มาจากความเชื่อว่าโรงเรียนที่ดีคือต้นทุนชีวิตเด็ก จริง ๆ ภายในโรงเรียนเดียวกันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น บางโรงเรียนมีหลักสูตรหลายหลักสูตร เด็กที่ถูกคัดแล้วและพ่อแม่พร้อมจ่ายอาจเรียน english program (EP) หรือถ้าไม่เรียนเต็มก็เรียน mini EP หรือแค่ EP เฉพาะบางวิชา ถ้าอยากเรียนห้องเรียนที่เน้นกลุ่มเด็กสายวิทยาศาสตร์ หรือห้องเรียนเด็กเก่ง ห้อง gifted ทั้งหลาย ต้องจ่ายเพิ่มหมด

คิดดูว่าเด็กโรงเรียนเดียวกัน มีห้องหนึ่งเด็กเรียนแค่ ๒๐ คนในห้องแอร์ มีครูฝรั่งสอน แต่อีกห้องเรียนกัน ๕๕ คนให้ครูโรงเรียนมาสอน นี่ขนาดเด็กอยู่ในโรงเรียนที่มีศักยภาพแล้วยังถูกคัดกรองตามความสามารถในการจ่ายค่าเรียนของพ่อแม่ สมัยก่อนไม่มีแบบนี้

สังคมเชื่อว่ายิ่งลงทุนกับเด็กเท่าไร เด็กจะยิ่งมีโอกาสดีในชีวิต เราจึงมีเด็กจบปริญญาตรีจำนวนมาก แต่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีเด็กจำนวนมากหลุดจากระบบระหว่างเส้นทางเพราะเขาอาจไม่เหมาะกับสายสามัญ ขนาดมีเงินอุดหนุนรายหัวให้ทุกคนแล้ว แต่เรามีคนจบหลักสูตร ๑๒ ปีเพียง ๕๔.๘ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่นับรัฐธรรมนูญใหม่ที่แก้กลไกนี้โดยลดเพดานเหลือให้เรียนฟรีแค่ ม. ๓ ซึ่งจะทำให้การศึกษากลับไปที่เดิม คือเกิดการเหลื่อมล้ำเชิงโอกาส

การจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้โรงเรียนก็ได้ยินมาตั้งแต่อดีต ทุกวันนี้จ่ายมากขึ้นด้วยหรือเปล่า
ที่สหรัฐอเมริกาไม่มีเรื่องพวกนี้ แต่ของเรามีระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย พ่อแม่ทุกคนจะใช้ทุกช่องทางในการเข้าโรงเรียนดัง ๆ ให้ได้ แต่น่าตกใจว่าเข้าไปแล้วไม่ใช่ว่าลูกจะเข้าถึงคุณภาพการศึกษานะ โรงเรียนยังมีแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่แบ่งห้องเด็กเก่ง กลาง อ่อน เอาเด็กเกเรมารวมกันจะได้จัดการง่ายเพราะผู้ปกครองคนอื่นมองว่ารบกวนเพื่อน ความคิดนี้ยังอยู่ในระบบการศึกษาไทย เราไม่เชื่อแนวคิดว่าในห้องหนึ่งต้องให้เด็กอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย พ่อแม่จะเชื่อว่าครูเอาลูกเขามาช่วยเพื่อนแล้วไม่ได้ประโยชน์ ครูอธิบายไม่ได้ว่าการช่วยเพื่อนคือการพัฒนาเด็กอย่างหนึ่ง เวลาอธิบายเพื่อน เขาจะได้คิดสังเคราะห์ ได้พูดออกมาจากความเข้าใจ ตามแนวคิด cooperative learning คือเปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน และได้พัฒนาตามแบบของตัวเอง

หลายประเทศเขาไม่ยอมให้ทำแบบนี้แล้ว มันเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่โรงเรียนทำกับเด็ก เราน่าจะเป็นหนึ่งในน้อยประเทศที่ยอมให้เรื่องความไม่เสมอภาคแบบนี้กลายเป็นวัฒนธรรม คือยอมรับกันว่าทำได้ ซึ่งโรงเรียนใหญ่ ๆ ดัง ๆ ก็ทำกัน แต่ก่อนคิดว่ามีแค่โรงเรียนกลาง ๆ ที่เอาเด็กเก่งไว้ปั้นสักห้องหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เขาอยากได้ว่าจบแล้วเรียนต่อที่ไหน ชิงทุนอะไรได้บ้าง โรงเรียนดัง ๆ ที่ปิดประกาศหน้าโรงเรียนรายงานว่าเด็กเรียนต่อที่ไหนได้บ้าง สมมุติทั้งรุ่น ๑,๒๐๐ คน เด็กสอบติด ๙๐๐ คน คำถามคืออีก ๓๐๐ คนอยู่ที่ไหน เด็กเหล่านี้ก็อยู่ในโรงเรียน ทุกคนไม่ได้ไปถึงหลักชัยอย่างที่คุณเข้าใจเพราะโรงเรียนปั้นเด็กแค่บางคน

“เวลา ๓ ปีในอนุบาล ๑๒ ปีในโรงเรียน
๔ ปีในมหาวิทยาลัยยังไม่ช่วยให้เด็ก
รู้จักตนเอง นี่คือความล้มเหลวอย่างแท้จริง
ของการศึกษา”

ประเทศอื่นลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร
ผมคุยกับนักการศึกษาฟินแลนด์ เขาบอกเลยว่าหนึ่งในความสำเร็จของการศึกษาของฟินแลนด์คือพ่อแม่ไว้ใจโรงเรียนรัฐจนโรงเรียนเอกชนปิดตัวหมด เหลือแค่โรงเรียนศาสนา เขาปฏิรูปการศึกษา ๔๐ ปี โรงเรียนเอกชนลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เพราะพ่อแม่ไว้ใจว่าโรงเรียนจะใกล้บ้านแค่ไหนก็มีคุณภาพ

ธงในการปฏิรูปการศึกษาของเขาคือการลดความเหลื่อมล้ำ ฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการ มาจากประเทศที่เคยยากจน เขาไม่สามารถปล่อยให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลไม่มีคุณภาพ ไม่อย่างนั้นคนไหลเข้าเมืองหมด เขาต้องการให้คนอยู่ในชนบท เพราะฉะนั้นวิธีคิดคนละแบบและก็เลียนแบบไม่ได้ด้วย

ตอนนี้คนไทยตื่นเต้นกับการศึกษาฟินแลนด์ พูดถึงกันเยอะ เอาเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่ต้องดูว่าเขาทำบนโจทย์อะไร อย่าเอาแค่วิธีการมา ไม่อย่างนั้นพัง เช่นฟินแลนด์การบ้านน้อย เพราะอยู่บนความคิดว่าทุก ๆ ชั่วโมงที่ครูเจอเด็กเป็นเวลาที่มีคุณภาพแล้ว ซึ่งก็ต้องมีคุณภาพจริง ๆ ที่พ่อแม่ยอมรับ เขามีคำว่า trust and accountability พ่อแม่ ผู้ปกครอง สังคม ต้องเชื่อใจและไว้ใจครูในฐานะนักการศึกษา และครูก็ต้องทำให้สังคมเชื่อใจด้วยการรับผิดรับชอบกับผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก ถ้าสองคำนี้เกิดไม่ได้ เราจะฉวยเอาวิธีของเขามาใช้อย่างมักง่ายไม่ได้

เวลาคนพูดถึงการศึกษาฟินแลนด์จะพูดกันแค่ว่าไม่มีการบ้าน ไม่มีการสอบ มันผิวเผินหมดเลยนะ ทั้งที่เขามีวิธีคิดเบื้องหลังเยอะมาก ถามว่าเขาลงทุนสูงไหม ลงทุนสูง เพราะเขาคิดว่าถ้าปล่อยให้เด็กคนหนึ่งแพ้ เขาต้องแบกต้นทุนที่จะเกิดกับเด็กคนนั้นไปอีกนานแค่ไหน เพราะฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการ รัฐต้องเลี้ยงคนไปจนกว่าจะเกษียณ หรืออย่างสิงคโปร์ประชากรน้อย ต้องให้ทุกคนพร้อมแข่งขันเป็นแรงงานมีคุณภาพ ถ้ามีคนหนึ่งแพ้ ต่อไปคนนั้นจะทำงานอะไรในสังคม เพราะฉะนั้นเขาจำเป็นต้องนับทุกคนเป็นเป้าหมายในการศึกษา ผิดกับการศึกษาของเราที่เป็นเหมือนตะแกรงร่อนจาก ม. ๑ ไปถึง ม. ๖ ไม่สนใจว่าระหว่างทางมีเด็กตกหล่นแค่ไหน

พูดถึงประเด็นการบ้านน้อย รัฐบาลประกาศให้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ
นี่เป็นตัวอย่างของการหยิบวิธีการมาโดยไม่ได้เอาหลักคิดมาด้วย สิงคโปร์ทำ teach less, learn more เพื่อเน้นให้เด็กใช้ไอทีเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน เพราะเชื่อว่าเด็กแต่ละคนเรียนรู้ด้วยความเร็วไม่เท่ากัน หน้าที่ของครูคือการจัดการให้เกิดการเรียนรู้ เรียนรู้ที่บ้านก่อน แล้วมามีชั่วโมงที่โรงเรียนน้อยลง เวลาเจอกันจะเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ ครูจะเป็นโค้ชพาเด็กทำกิจกรรมต่าง ๆ

กว่าสิงคโปร์จะประกาศนโยบายนี้ เขาใช้สถาบันครุศึกษาแห่งชาติหรือ NIE เป็นหน่วยบุกเบิกทำวิจัยและทดลอง NIE เป็นสถาบันฝึกหัดครู ซึ่งมีที่เดียวเพื่อควบคุมคุณภาพครูได้ทั้งหมด สิงคโปร์มีโรงเรียนประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าโรง เขาทดลองกับโรงเรียนจำนวนหนึ่งให้เกิดโรงเรียนตัวอย่างก่อน จนพร้อมแล้วจึงเริ่มขับเคลื่อนสู่ทุกโรงเรียน พอประกาศนโยบายก็มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ครูดูว่าต้องออกแบบการสอนแบบนี้ ต้องมีไอทีมาสนับสนุน ครูต้องมีทักษะไอที ต้องวางแผน วิจัย พัฒนาให้ได้ผลจริง

บ้านเราออกนโยบายลดเวลาเรียนทำแบบหัวมังกุท้ายมังกร คือเรามองว่าวิชาไหนมีเนื้อก็สอนเนื้อไป วิชาไหนไม่มีเนื้อก็ให้สอนกิจกรรม กลายเป็นว่าให้เด็กเรียนเลกเชอร์ห้าคาบ อีกสองคาบเป็นกิจกรรมสนุก ๆ ซึ่งคนละแบบกับสิงคโปร์ ของเขาไม่ว่าจะวิชาคณิตหรือวิทย์ก็ teach less, learn more คือลดการเลกเชอร์แต่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ครูถอยมาเป็น learning manager (ครูทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ จุดประกายให้เด็กสนใจใฝ่รู้ ไม่ใช่ผู้สอนป้อนความรู้ โดยมีเป้าหมายการศึกษาคือการเรียนรู้)

เราเอาคำเขามา แต่ไม่ได้เอาหลักการมาด้วย พอประกาศนโยบายก็ฟังดูดี แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่ได้เรียนน้อยลง โรงเรียนดัง ๆ จะลดเวลาเรียนได้ยังไง พ่อแม่ทุกคนส่งลูกมาเรียนเพื่อเป้าหมายอะไรก็รู้กันอยู่ เด็กไม่โอเคกับการให้มานั่งชมรมในคาบ ๘ บางโรงเรียนก็ลักไก่ บอกว่ากิจกรรมลดเวลาเรียนจัดตามความสนใจของท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นต้องการให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัย ก็กลายเป็นว่าคาบ ๗-๘ คือคาบติว เราจัดการศึกษาแบบศรีธนญชัย หาวิธีการดิ้นรนไปให้ถึงเป้าหมาย

ปัญหาใหญ่คือการเอาผลระยะสั้น ประกาศแล้วทำเลย มีโรงเรียนนำร่อง ๓,๐๐๐ กว่าโรง แต่พอเปลี่ยนรัฐมนตรี สิ่งที่ทำมา สามเทอมก็ยกเลิก รัฐมนตรีใหม่เข้ามาทำโครงการใหม่แทน เราปล่อยให้หลักสูตรการศึกษาถูกแทรกแซงได้ง่าย ไม่มีประเทศไหนที่หลักสูตรระดับชาติ ระดับโรงเรียนเปราะบางเท่าประเทศไทยอีกแล้ว เราสามารถมีวิชาใหม่ ๆ เข้ามาได้ทันทีถ้าฝ่ายการเมืองสั่ง

อย่างเช่นการเพิ่มการเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง
อันนี้ชัดมาก แค่มีคนส่งหนังสือไปให้นายกรัฐมนตรีว่าเดี๋ยวนี้ในโรงเรียนไม่ได้เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองแล้ว พอนายกรัฐมนตรีทักทีเดียวคนในกระทรวงฯ ก็ขานรับ โดยไม่มีใครค้านใครแย้งว่ามันมีอยู่แล้วในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ อยู่ในหนังสือแบบเรียน เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำหลักสูตรวิชาหน้าที่พลเมืองระดับชาติเสร็จภายใน ๑ เดือนครึ่ง แล้วประกาศให้เริ่มทำตอนกลางปีการศึกษาตอนเดือนกรกฎาคม ให้ใช้เดือนพฤศจิกายน สิ่งที่ตามมาคือโรงเรียนอลเวง สอนมาได้ต้องมาจัดโครงสร้างหลักสูตรกันใหม่ ทำเรื่องนี้เพราะเดี๋ยวเด็กไม่จบตามตัวชี้วัด คนที่ได้รับผลกระทบคือโรงเรียนในสังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) แล้วโรงเรียนในสังกัดเอกชนหรือโรงเรียนทางเลือกล่ะต้องทำไหม ? สุดท้ายก็ต้องทำตามทั้ง ๆ ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อม

อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกวิจารณ์มากคือการสอนที่เน้นการท่องจำ
การท่องจำบางเรื่องไม่ใช่เรื่องผิด แต่ตอนนี้เรากำลังใช้การท่องจำกับทุกเรื่อง มันโยงไปเรื่องการสอบว่าเน้นท่องจำ เพราะข้อสอบจำนวนมากเป็นข้อสอบปรนัย เราให้ความสำคัญกับการทำข้อสอบมาก ซึ่งถ้าเป็นข้อสอบระดับชาติ ยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นข้อสอบปรนัย แต่อาจมีสัดส่วนของอัตนัยเพิ่มขึ้น ความจริงข้อสอบระดับชาติจำนวนมากเป็นข้อสอบเชิงวิเคราะห์ แต่ครูเข้าใจว่าต้องเอาข้อสอบมาทวนให้เด็กฟัง ก็เลยเป็นการจำเพื่อไปตอบ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนการทำข้อสอบมาเป็นการประเมินระหว่างเรียนมากขึ้น ซึ่งต้องเตรียมครูอีกแบบหนึ่งเลย

แต่ก่อนเราเคยสอบโอเน็ตแค่ห้าวิชา ผลคือเด็กและพ่อแม่ก็ให้ความสำคัญแค่ห้าวิชานี้ ทำให้วิชาที่เหลือไม่มีที่ยืนในการประเมินผล ต่อมาก็มีการเรียกร้องให้วัดโอเน็ตแปดวิชา แต่ก็มีปัญหาเพราะบางวิชาวัดไม่ได้ด้วยข้อสอบ เช่น ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ ก็เลยถอยกลับมาประเมินโอเน็ตแค่ห้าวิชา อนาคตอันใกล้จะเหลือโอเน็ตแค่สี่วิชาคือ วิทย์ คณิต ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ซึ่งตามกระบวนทัศน์การศึกษานานาชาติ วิชาเหล่านี้คือการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา กับทักษะการใช้ภาษา จะไม่วัดโอเน็ตวิชาสังคมศึกษากับ ป. ๖ และ ม. ๓ แล้วเพราะเจอปัญหาว่าเด็กท่องจำเอา ไม่ได้เรียนด้วยความเข้าใจ

กลับมาที่ปัญหาโรงเรียนเล็กลง อาจารย์เคยบอกว่าโรงเรียนเล็ก ๆ หลายแห่งตามต่างจังหวัดกลับมีสภาพที่ดีกว่าโรงเรียนใหญ่ เพราะอะไร
ความหวังของพ่อแม่คือตัวแปรสำคัญ ถ้าคุณอยู่โรงเรียนดัง ๆ ในเมือง ความคาดหวังพ่อแม่คือเกรดต้องดี สอบต้องติด ทุกคนจะพุ่งไปตรงนี้ แต่พอไปอยู่โรงเรียนขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน ความคาดหวังตรงนี้จะลดลงมาหน่อย พ่อแม่อาจอยากให้เด็กเข้าใจชุมชนตนเอง วิธีคิดเรื่องการศึกษาจะเป็นคนละแบบ โรงเรียนพวกนี้จะไม่เร่งเด็กเชิงวิชาการ มีโอกาสทำให้เด็กค้นพบที่ทางของตนเองในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งดีกว่าหรือเปล่าบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจริตที่ไม่เหมือนกัน

เพราะสัดส่วนของครูกับนักเรียนที่ลดจำนวนลง ทำให้ประสิทธิภาพของโรงเรียนดีขึ้น
ความใกล้ชิดระหว่างครูกับเด็กมีมากกว่า และถ้าโรงเรียนเอาจริงเอาจังก็จะส่งผลดี สมมุติโรงเรียนมีเด็กในห้องเรียน ๒๐ คน ต่อให้เป็นเด็กเรียนอ่อนแค่ไหนก็มีโอกาสที่ครูจะช่วยพัฒนาขึ้นมาได้ แต่ต้องไม่เอาไม้บรรทัดเดียวกันกับโรงเรียนดัง ๆ มาทาบนะเพราะต้นทุนไม่เหมือนกัน เด็กโรงเรียนนี้เก่งกว่าโรงเรียนนี้ ไม่ได้แปลว่าครูเก่งกว่าเพราะคุณภาพเด็กที่เข้ามาไม่เหมือนกัน กระบวนการก็คนละแบบ เด็กโรงเรียนดังอาจไม่ต้องพึ่งคุณครูมากด้วยซ้ำเพราะเรียนพิเศษเองเยอะ ครูอาจมีหน้าที่แค่จับประเด็นให้ แล้ววัฒนธรรมการเรียนแบบเพื่อนพากันไปยังทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนสูง

ปัญหาตอนนี้คือเราใช้เกณฑ์เดียวกันเวลาประเมินผู้อำนวยการ ประเมินครู เราใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับทุกโรงเรียน ซึ่งความจริงต้องปล่อยให้มีความยืดหยุ่นพอสมควร เช่นบางโรงเรียนปีนี้อาจวัดผลต่ำลงบ้างเพราะเขายอมรับเด็กเรียนอ่อนในพื้นที่เข้ามามากขึ้น

เราพูดกันมานานแล้วเรื่องการเรียนแบบให้เด็กเป็นศูนย์กลาง หรือ child center ทำไมยังทำไม่สำเร็จ
เพราะความเชื่อของผู้ใหญ่ ผมมีคำถามว่าเราเชื่อไหมว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ได้ เด็กแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยวิธีการเดียวกัน ถ้าครูไม่เชื่อก็จบเลย ครูจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัย ครูไม่กล้าออกนอกกรอบของตนเองในการสอนเพราะมันไม่ตอบโจทย์ของโรงเรียนและผู้ปกครอง คือถ้าจะคิดแบบยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ต้องคิดว่าอยากให้เด็กมีเป้าหมายอะไร ให้เด็กแชร์เป้าหมายของตนได้หรือเปล่า ออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

ผมเพิ่งพาครูไปดูงานที่ออสเตรเลีย ห้องเรียนเขารวมสองห้องจากเด็กที่การเรียนรู้เร็วช้าไม่เท่ากันมาเรียนด้วยกัน มีครูสอนสองคนผลัดกันเป็นตัวหลัก อีกคนคอยสนับสนุน ห้องหนึ่งมีนักเรียน ๔๐-๕๐ คน แต่ครูแท็กทีมกันทำงาน ไม่ใช่เป็นเจ้าของห้องเรียนคนเดียว ต้องคุยกันกับครูอีกคนมาแล้ว วางบทบาทสลับกันใครจะเป็นตัวหลักช่วงไหน อีกคนเดินดูว่าเด็กคนไหนมีปัญหา ต้องการการช่วยเหลืออย่างไร มีชั่วโมงที่เด็กเลือกเรียนตามความสนใจเป็นกลุ่ม ๆ ครูทำหน้าที่แค่คอยชี้แนะ ทำแบบนี้เด็กก็จะค้นพบความสนใจ ความถนัดของตัวเอง และมีแรงจูงใจในการเรียน

ครูเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ แต่ทุกวันนี้มักถูกมองว่าคุณภาพลดลง ปัญหาเกิดจากอะไร
หัวใจสำคัญของระบบการศึกษามีอยู่สามส่วนเป็นสามเหลี่ยม คือ กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันฝึกหัดครู และโรงเรียน สามเหลี่ยมนี้คือเป้าหมายของทุกประเทศในการพัฒนาการศึกษา คุณไม่สามารถจะทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วทิ้งส่วนอื่นได้เลย ต่อให้คุณมีเจ้ากระทรวงเก่งแค่ไหน แต่ทิ้งคนฝึกหัดครูไว้ข้างหลัง ไม่ให้เขามีส่วนร่วมตัดสินใจว่าจะฝึกครูแบบไหนออกมา หรือไม่เคยถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่โรงเรียนบ้าง ถ้าเขตพื้นที่การศึกษาเป็นแค่ข้อต่อลำเลียงนโยบายมาให้โรงเรียน โรงเรียนก็พังเพราะต้องรับสารพัดนโยบาย

คนช้ำที่สุดคือครู แล้วก็ส่งผลกระทบกับเด็ก พอครูล้าเขาจะเอาอะไรไปสอนเด็ก เขาก็เอาความเหนื่อยไปสอนเด็ก สอนแบบขอไปที เมื่อไรที่ยังทำให้ครูสวมหมวกเป็นข้าราชการมากกว่าเป็นครู จะทำให้เกิดคุณภาพการศึกษาได้ยากมาก สมัยก่อนครูของเรายังไม่มีงานเยอะขนาดนี้ ไม่มีระบบประเมินครูมากขนาดนี้ เขายังมีโอกาสใกล้ชิดกับเด็ก

ตอนนี้ถ้าไปโรงเรียนจะสังเกตเห็นว่าครูสาละวนยุ่งกับโครงการนั้นโครงการนี้ หรือไปสอบที่นั่นที่นี่ ผมดูนิสิตที่เป็นครูฝึกสอนมา ๒๐ ปีแล้ว ได้เข้าไปโรงเรียนทุกเทอมก็จะเห็นว่าครูไม่ได้ขี้เกียจ เขาทำงานจะตายอยู่แล้ว โดนสั่งอย่างเดียว

“คนช้ำที่สุดคือครู แล้วก็ส่งผลกระทบกับเด็ก
พอครูล้าเขาจะเอาอะไรไปสอนเด็ก เขาก็เอาความเหนื่อยไปสอนเด็ก
สอนแบบขอไปที เมื่อไรที่ยังทำให้ครูสวมหมวกเป็นข้าราชการมากกว่าเป็นครู
จะทำให้เกิดคุณภาพการศึกษาได้ยากมาก”

การเปิดให้คนวิชาชีพอื่นสมัครสอบคัดเลือกเป็นครูได้ เกิดเสียงคัดค้านมากจากครู จริง ๆ ไม่ดีหรือที่ให้คนเก่งด้านต่าง ๆ มาเป็นครู
เขาเชื่อว่าเอาคนเก่งมาสอนเด็ก เด็กจะได้เก่ง คำถามคือคนเก่งเหล่านี้คือเก่งวิชาการใช่ไหม แสดงว่าเป้าหมายการศึกษาคือแค่ให้เด็กเรียนต่อแล้วทำงาน คุณไม่ได้เชื่อเรื่องการศึกษาว่าคือการเตรียมพร้อมให้เป็นพลเมืองในสังคม เพราะการเตรียมคนไม่ได้มีแค่สมองหรือความรู้ งานของครูในโรงเรียนยังเกี่ยวกับการอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนขนาดเล็ก เป็นสังคมจำลองของเด็ก

มีหลายประเทศเปิดช่องให้คนที่มีวุฒิอื่นมาเป็นครู แต่ทุกประเทศมีการเตรียมความพร้อมให้เขา เช่น สิงคโปร์ คุณจบวิศวกรมาอยากจะเป็นครู ให้อบรมเลย ๑๖ เดือนแล้วค่อยมาสอบ ฟินแลนด์หลังบริษัทโนเกียเจ๊ง มีวิศวกรตกงานเยอะ จะมาเป็นครูก็ต้องเข้าอบรม ๑ ปี อย่างน้อยครูต้องรู้พัฒนาการเด็ก จิตวิทยาการเรียนรู้เป็นอย่างไร สอนในห้องเรียนไม่เหมือนสอนในสถาบันกวดวิชาที่ติวเตอร์สรุปให้ฟัง ทบทวน ฝึกทำโจทย์ข้อสอบ ที่สำคัญคือคนตั้งใจมาเรียน เพราะพ่อแม่จ่ายเงินมาแล้ว แต่โรงเรียนเป็นอีกแบบหนึ่ง มีทั้งเด็กที่มีแรงจูงใจและไม่มีแรงจูงใจ ครูต้องรู้วิธีการทำให้เด็กที่มีความหลากหลายอยู่ด้วยกันได้

ตอนนี้ผลจากการคัดค้านเรื่องคนไม่ตรงวุฒิเป็นอย่างไร
สรุปด้วยการเจอกันครึ่งทางคือ หนึ่ง ต้องเตรียมความพร้อมให้เขา สอง ไม่ได้ปล่อยให้เข้ามาสอนทุกวิชา เอาเฉพาะวิชาที่ขาดแคลนจริง ๆ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ครุศาสตร์ไม่ได้สอนอยู่แล้ว เช่น วิชาภาษาพม่า หรือนาฏศิลป์ ซึ่งตอนนี้ขาดแคลนคนมาสมัคร แต่พวกวิชาวิทย์-คณิต ผลิตเกินความต้องการทุกปี แล้วมีคนที่สอบบรรจุได้แล้วค้างบัญชียังไม่เรียกบรรจุเยอะมาก นี่เป็นเหตุที่พวกครูประท้วง เพราะอยู่ ๆ จะล้างบัญชีให้สอบใหม่แล้วเอาคนอื่นมาแข่งด้วย มันไม่ยุติธรรมกับพวกเขา

ตอนนี้ระบบการบรรจุครูจัดการโดย กศจ. (คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด) เขาจะเอาโรงเรียนทั้งประถมฯ-มัธยมฯ มาอยู่ด้วยกันแล้วไล่ไปตามลิสต์บัญชี สมมุติ ๑๓ โรงเรียนแรกกำลังขาดแคลนครูแบบเร่งด่วน คุณเก่งมากจบเอกภาษาอังกฤษ สอบได้ที่ ๑ ของเขต ปรากฏว่าคุณดันได้ไปสอนโรงเรียนประถมฯ หรือคุณเรียนวรรณคดี เรียนสัทศาสตร์มา คุณจะสอนเด็กได้เหรอ คือจะสอนยังไงให้เด็กสนุกไม่กลัวการใช้ภาษา ไม่ใช่เอาวิชาการขั้นสูง วิธีคิดคนละแบบเลยนะ ก็ต้องให้เขามาเรียนวิชาครูแบบเร่งรัด ๒ อาทิตย์ เทียบกับเด็กครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เรียนวิชาครูมา ๕๔ หน่วยกิตตลอด ๔ ปีแล้ว หรือถ้าจะล็อกคนเก่งเหล่านี้ไปอยู่โรงเรียนใหญ่ ๆ ก็ไม่ยุติธรรมอีก เพราะกว่าครูบางคนจะได้ไปอยู่โรงเรียนใหญ่ ๆ ใกล้บ้าน ใช้เวลาขอย้ายเป็นสิบปี สุดท้ายตอนนี้ไม่ล็อกแล้วเพราะจะมีปัญหา การประกาศนโยบายคิดขั้นเดียวไม่ได้ต้องดูว่าผลที่ตามมาคืออะไรด้วย

คนมักนำการศึกษาไทยไปเทียบกับหลายประเทศ คุณคิดว่าเราควรดูตัวอย่างจากประเทศไหนกันแน่
ถ้าจะเอาเร็ว ผมคิดว่าประเทศที่เราควรศึกษาคือสิงคโปร์ ไม่ใช่ฟินแลนด์ จริง ๆ สิงคโปร์ไม่ได้ดีไปหมดทุกอย่างนะ แต่มีบริบทและวิธีคิดบางอย่างเหมือนกับไทย มีความเป็นรัฐข้าราชการ มีความรวมศูนย์เยอะ มีฐานใกล้เคียงกันอยู่ แต่ถ้าเราเอาฟินแลนด์เป็นเป้าหมายก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่งเลย

บางคนมองว่าสิงคโปร์ไม่น่าจะเหมาะกับเรา ขนาดประเทศเขาเล็กกว่า เราจะคิดการบริหารรวมศูนย์แบบเขาไม่ได้
ปัญหาของเราคือมันใหญ่เกินรวมศูนย์ แต่เราไม่เคยคิดให้เป็นหน่วยที่เล็กลง ตอนนี้เรามีศึกษาธิการภาค ๑๘ แห่ง เราจะมองสเกลศึกษาธิการภาคให้เทียบเท่ากับประเทศสิงคโปร์หนึ่งประเทศก็ได้นะ แต่ละแห่งมีเขตพื้นที่ใหญ่ ๆ หลายจังหวัด มีมหาวิทยาลัยราชภัฏสักสองแห่งให้เป็นสถาบันครุศึกษาประจำพื้นที่ทำหน้าที่พัฒนาครูของกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ จะมองแบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าเอาการศึกษาแบบฟินแลนด์ที่มีบริบทสังคมที่ต่างกันมากมาทาบจะลำบาก ยกเว้นสังคมไทยจะปรับกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ มุ่งสู่การเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน หรือ inclusive society ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มานานแล้ว แต่ไม่เคยทำจริง

ดูเหมือนคุณจะมองว่าการเรียนจบปริญญาตรีไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง
เราไม่ยอมรับความจริงว่าตลาดแรงงานบ้านเราไม่ได้ต้องการแต่คนจบปริญญาตรี เราต้องการแรงงานหลากหลายที่มีคุณภาพ แต่มันเป็นค่านิยมว่าทุกคนอยากรับปริญญา

ตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาของกับดักนี้คือกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สมัยก่อนเป็นวิทยาลัยครูมีความต้องการครูเยอะ แล้วพอความต้องการครูน้อยลงก็ผันมาเปิดคณะอื่นตามความต้องการของตลาด สอนนิเทศฯ การตลาด แล้วก็รับนักศึกษาไม่อั้น บางที่แทบไม่ต้องสอบแข่งก็รับเข้ามาเรียนโดยไม่การันตีคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งรับเด็กเข้าปีหนึ่งเยอะมาก สุดท้ายเรียนไปไม่ไหวทำงานดีกว่า บางคณะของบางมหาวิทยาลัยรับเป็นพันคนโดยไม่ห่วงว่าจะมีคุณภาพยังไง เพราะเราติดกับดักว่าต้องเรียนปริญญาตรี

หรือเพราะในส่วนภาคอาชีวะมีสถาบันรองรับไม่เพียงพอ
จริง ๆ มีเพียงพอ แต่รัฐไม่เคยทำให้มีคุณภาพเชิงประจักษ์ แล้วสังคมมีค่านิยมว่าเด็กอาชีวะคือเด็กเกเร เรื่องใหญ่สุดคือค่านิยมของคนในสังคมยังเชื่อว่าถ้าเรียนไหวก็ให้เรียน ม. ๔ เพื่อหวังจบมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปในระยะยาวจะมีคนสนใจช่วยอาชีวะมากกว่า บรรดาภาคธุรกิจโรงงานทั้งหลายเริ่มเห็นแล้วว่ากว่าจะรอเรียนจบไม่ทันการ โมเดลคือสนับสนุนการเรียนไปถึงปี ๒ แล้วให้เริ่มฝึกงานเพราะความรู้ในสถาบันบางทีไม่ทันต่อเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ พอเขาเปิดโรงงานให้เด็กมาฝึก เขาจะรู้ว่าเด็กอ่อนเรื่องอะไร ก็ปั้นตรงนั้นเลยดีกว่าแล้วดึงเด็กที่มีคุณภาพมาเข้าโรงงานเขา

เรายังมองความสำเร็จของคนที่การจบปริญญา ที่ผ่านมาค่านิยมการศึกษาเปลี่ยนน้อยมาก จริง ๆ การเกิดขึ้นของโรงเรียนทางเลือก โฮมสกูล หรือสถาบันกวดวิชา คือตัวชี้ว่าการศึกษามีปัญหา

กรณีเด็กมีเป้าหมายเข้าเรียนอยู่ไม่กี่คณะ เช่น แพทย์ วิศวะ นิเทศฯ โดยที่เด็กอาจไม่รู้ว่าตนเองอยากเป็นอะไรจริง ๆ
การศึกษาไม่เคยให้เขาตั้งคำถามว่าเป้าหมายของตนเองคืออะไร เขารู้แต่เป้าหมายที่พ่อแม่คาดหวัง คือได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย เราไม่ได้ตั้งโจทย์การศึกษาเพื่อตอบสนองเด็กที่แตกต่างกัน ความจริงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ปี ๒๕๔๔ พยายามจะเน้นการตอบสนองความแตกต่าง แต่ค่านิยมสังคมไม่เปลี่ยนก็เกิดเด็กหลงทางเยอะ เรามีเด็กเก่ง ๆ ซึ่งถ้าได้เรียนรัฐศาสตร์ก็จะเป็นนักรัฐศาสตร์ที่เก่งมาก แต่เพราะคะแนนสูงจนควรจะไปเรียนนิเทศฯ เขาก็เลยไปเรียน แล้วเราก็จะได้คนที่จบนิเทศฯ เกียรตินิยม แต่สุดท้ายไปทำงานอื่นเพราะไม่ได้ชอบสิ่งที่ตนเองเรียน แต่เรียนเพราะกระแสสังคมพาไป เรามีหมอหรือวิศวกรจำนวนมากที่ผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นเพราะมาค้นพบตัวเองหลังจากเรียนจบแล้วว่าไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ

พอโรงเรียนวิ่งตามเป้าหมายของพ่อแม่ โรงเรียนก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษา ความจริงผู้อำนวยการโรงเรียนคือผู้บริหารการศึกษาระดับโรงเรียน แต่ทุกวันนี้เขาแค่บริหารโรงเรียนตามโจทย์ผู้ปกครองและวิ่งตอบสนองนโยบายรัฐ กิจกรรมแนะแนวในโรงเรียนจำนวนมากจึงกลายเป็นแค่การแนะนำว่ามีสอบอะไรบ้าง เมื่อไร มีทุนการศึกษาที่ไหนเปิดเมื่อไร ความจริงหลักการแนะแนวไม่ใช่เรื่องนี้ แต่คือให้เด็กรู้จักว่าตัวเองเป็นใคร ผมมีเด็กที่มาเรียนปริญญาโทที่คณะแบบมาลองเรียนดูเพราะยังไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร คือเวลา ๓ ปีในอนุบาล ๑๒ ปีในโรงเรียน ๔ ปีในมหาวิทยาลัยยังไม่ช่วยให้เด็กรู้จักตนเอง นี่คือความล้มเหลวอย่างแท้จริงของการศึกษา

โลกยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว มันคือโลกที่ใครรู้จักตัวเองได้เร็ว จะเริ่มต้นชีวิตได้ก่อน แต่ค่านิยมการศึกษาบ้านเราตามไม่ทัน เลยมีมุกมาล้อขำ ๆ ว่า บิล เกตส์ ไม่เห็นต้องจบมหาวิทยาลัยอะไร แต่ทุกคนไม่ได้เป็นอย่างเขานี่ ถ้าจะเป็นอย่างเขาก็ต้องรู้จักตัวเองได้เร็วตั้งแต่มัธยมฯ ซึ่งต้องมีประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง ให้เด็กได้รู้จักหลาย ๆ อาชีพที่เป็นได้ รู้ว่าตนเองจะไปทำอะไร ถามว่าเด็กในโรงเรียนมีโอกาสได้รับประสบการณ์นั้นขนาดไหน น้อยมาก ๆ นะ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากพ่อแม่ โลกทัศน์ที่อยู่ในโรงเรียน ถ้าถามเด็กประถมฯ ก็อยากเป็นครู หมอ เด็กมัธยมฯ อาจเป็นวิศวกร นิเทศฯ อาชีพมีแค่นั้น ไม่รู้ว่ามีอาชีพอื่น ๆ อีกมาก

“ผมเชื่อเรื่องการเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่า
คนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวเรื่องสังคม
จะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ผู้ใหญ่ในรัฐไม่ไว้ใจการเปลี่ยนแปลง
โดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย”

โฮมสกูลถือเป็น “ทางเลือก” หรือเปล่า
เรียกว่าเป็น “ทางรอด” ของคนที่ไม่เชื่อระบบดีกว่า เพราะผู้ปกครองไม่โอเคกับระบบการศึกษาแบบนี้ แต่เขายังเปลี่ยนการศึกษาที่มีตอนนี้ไม่ได้ เขาอยากจะปกป้องลูกเขา จัดการศึกษาตามแนวทางที่เขาเชื่อ แต่โฮมสกูลทำให้เกิดทางขนานขึ้นมากับการศึกษาในระบบ ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่าย เช่น ราคาแพง หรือลูกไม่มีประสบการณ์เหมือนกับเด็กวัยเดียวกัน ทำให้ปรับตัวยากเวลากลับเข้ามาเรียนในระบบ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีระบบแบบนี้เยอะแล้วนักการศึกษาจากฝั่งยุโรปก็มักวิพากษ์วิจารณ์ว่าคือความล้มเหลว จริง ๆ แล้วโฮมสกูลควรใช้กับกรณีที่เด็กบ้านไกลเข้าถึงการศึกษาโดยรัฐลำบาก พ่อแม่ไม่อยู่ในภาวะจะส่งลูกไปโรงเรียนได้ และมีความพร้อมในการจัดโฮมสกูล

การทำโฮมสกูลอาจมีทักษะหรือประสบการณ์หลายอย่างที่ลูกจะไม่ได้รับ เช่นพ่อแม่โฮมสกูลจำนวนมากสอนอาชีพของตนเองให้ลูก คำถามคือจำเป็นไหมที่ลูกเกิดมาในครอบครัวศิลปินแล้วลูกต้องเป็นศิลปิน เขาอาจเป็นอย่างอื่นก็ได้ บ้านที่ทำโฮมสกูลแบบต่างคนต่างอยู่เป็นเกาะโดดเดี่ยวไม่เชื่อมโยงกันแบบนี้ไม่ดี แต่ถ้ามีการเชื่อมต่อประสานความร่วมมือแต่ละบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้โฮมสกูลด้วยกันก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่พ่อแม่มั่นใจได้มากกว่า

มองอนาคตการศึกษาไทยมีความหวังบ้างไหม
ผมเชื่อเรื่องการเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวเรื่องสังคมจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ผู้ใหญ่ในรัฐไม่ไว้ใจการเปลี่ยนแปลงโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย ถ้าคุณไม่เชื่อคุณก็จะไม่เคารพในอำนาจที่จะให้เขา ครูรุ่นใหม่ที่อยู่ในโรงเรียนตอนนี้มีศักยภาพ แต่เขาถูกใช้แค่เป็นมือไม้ จัดอีเวนต์ ทำรายงานให้โรงเรียน แบบนี้อีก ๑๐ ปีเขาจะกลายเป็นครูที่ไม่มีคุณภาพเลยนะ

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วเรามีความเชื่อว่าเราได้แต่คนที่ไม่เก่งมาเป็นครู แต่เมื่อเราให้เรียนครู ๕ ปี ยังมีคนหนุ่มสาวสนใจมาเรียน แล้วคนที่เข้ามาเรียนมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตจากที่คณะของผม ลูกศิษย์ที่เข้ามาเรียนช่วง ๕ ปีหลัง คะแนนสอบตรงที่ยื่นเข้ามาไม่ได้น้อยหน้าคณะอื่น เขาเลือกอนาคตคือครู เพราะมองเห็นความมั่นคง หรือบางคนอาจมีแรงบันดาลใจจากครูที่โรงเรียน มาโดยเลือกครูเป็นอันดับ ๑ มีแรงจูงใจว่าจะมีงานทำ แต่ถามว่าเขาจบแล้วโรงเรียนดูแลเขายังไง สังคมยังไม่ไว้ใจครู อันนี้น่าห่วง ครูกำลังถูกทำให้กลายเป็นคนไม่เก่ง ทั้งที่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ต่างจากคณะอื่น

ถ้าเราไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้จะมีพลังในการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปการศึกษาไปก็ไม่สำเร็จ เพราะอีก ๑๐ ปีบรรดาคีย์แมนที่เป็นผู้ตัดสินใจจะเกษียณหมดแล้ว เหลือแต่ครูเด็ก ๆ พวกนี้อยู่ในโรงเรียน ถ้ามองในแง่ดีที่สุด ภายใน ๑๐ ปีนี้เราจะมีผู้อำนวยการโรงเรียนอายุไม่เกิน ๔๕ ปี ครูอายุเฉลี่ยไม่เกิน ๓๕ ปี ซึ่งน่าจะทำให้โรงเรียนแอกทิฟ แต่ถ้ายังมองครูอย่างนี้ก็พัง

ทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าเกี่ยวกับการเมือง การศึกษาคือกลไกหนึ่งของสังคม และการเมืองคือการจัดการอำนาจ ถ้าการเมืองเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ การศึกษาก็เปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ ขณะที่เราปฏิรูปการศึกษาในยุคที่มีประชาธิปไตยยังไม่ค่อยสำเร็จ มาในยุคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมันก็ยิ่งยากมาก ถ้ายังไม่สามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านสังคมกลับไปสู่ประชาธิปไตยให้ราบรื่นได้ การศึกษาจะยิ่งเปลี่ยนตามโลกไม่ทันและยิ่งล่าช้า แล้วนี่คืออนาคตของสังคม

ปัญหานโยบายการศึกษาที่เปลี่ยนไปมาตามรัฐบาลและรัฐมนตรี หากให้รัฐบาลนี้บริหารต่อไปนาน ๆ จะมีผลดีกว่าหรือเปล่า
คือมีสองอย่าง ในแง่ความต่อเนื่องมันคงมีความต่อเนื่องมากขึ้น แต่เป้าหมายคืออะไร คือถ้าอยู่ภายใต้กลไกแบบนี้ แล้วเป้าหมายคือการทำให้ประชากรเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา (passive citizen) โตขึ้นมาเป็นคนแบบที่รัฐบาลอยากให้เป็น คือแค่คนที่เคารพกติกา ทำตามหน้าที่ซึ่งถูกรัฐสั่ง ไม่หือไม่อือ ไม่ตั้งคำถาม อย่างนี้น่ากลัว

—————————

ที่มา >> http://www.sarakadee.com/2017/07/12/athapol-anantaworasakul/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *