รู้หลักบริหารเครือข่าย เพื่อก้าวใหม่ของงานพัฒนาสังคม

รู้หลักบริหารเครือข่าย เพื่อก้าวใหม่ของงานพัฒนาสังคม

สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) เห็นความสำคัญของ “เครือข่าย” ในฐานะกลไกที่ทำให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม จึงจัดการอบรม “หลักสูตรการสร้างและบริหารเครือข่าย” หรือ Network & Partnership Management เมื่อวันที่ 14 – 15 กันยายน 2558 โดยมีภาคีผู้ปฏิบัติงานหรือผู้จัดการโครงการที่เพิ่งเริ่มต้นบทบาทงานสร้างเสริมสุขภาวะ ตลอดจนกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ต้องการเสริมความรู้และทักษะในการใช้เครือข่ายทำงานเพื่อสังคม เข้าร่วมถึง 40 คน ณ โรงแรมพักพิง อิงทาง บูติค โฮเทล

เพราะเนื้อหาที่แน่นด้วยสาระจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและบริหารเครือข่าย วันเวลาสองวันเต็มจึงถือว่าเปี่ยมด้วยคุณค่าและเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมอบรมอย่างมาก ขณะที่มีบรรยากาศสบายๆ ทั้งการจัดที่นั่งแบบเอกเขนกบนพื้นเสื่อ เอื้อต่อการยืดแข้งยืดขาและทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ข้าวปลาอาหารขนมน้ำชามีถึง 5 มื้อ เรียกว่าไม่ให้ท้องได้มีโอกาสร้องกันเลยทีเดียว และถึงแม้ในวันแรกที่เริ่มต้นกันตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงสามทุ่มก็ไม่ได้สาหัสอะไรเพราะส่วนใหญ่เตรียมกระเป๋ามาพักค้างที่โรงแรมอยู่แล้ว เอกเขนกในห้องประชุมเสร็จก็ไปเอกเขนกบนห้องพักต่อได้เลย

เริ่มต้นด้วย เครือข่าย : ความจำเป็นพื้นฐานในการทำงานทางสังคม โดย รศ. ดร. ประไพพรรณ อุ่นอบ หรือ อาจารย์ป๊ะ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนับเป็นผู้ให้ความรู้ในเชิงทฤษฎีหลักของการอบรมครั้งนี้ เปิดประเด็นด้วยหัวข้อที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของเครือข่าย ดังนี้

  • ธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคม
  • ปัจเจก กลุ่ม เครือข่าย ; ความหมาย ความเหมือน และความแตกต่าง
  • “เครือข่าย” คำตอบสำคัญในโลกปัจจุบัน
  • ความจำเป็นของเครือข่ายในการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ

และขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมมากขึ้นในวันที่สอง คือ

  • แนวคิดพื้นฐานของเครือข่าย
  • รู้จักลักษณะสำคัญของเครือข่าย ; องค์ประกอบ ประเภท ลักษณะเครือข่ายในแต่ละยุคสมัย วงจรชีวิตของเครือข่าย
  • กระบวนการสร้างและบริหารเครือข่าย
  • จุดแข็งและสิ่งที่ยังท้าทายในการทำงานเชิงเครือข่าย

สำหรับ น. สพ. ปกรณ์ สุวรรณประภา หรือ หมอแมน ที่ปรึกษามูลนิธิเครือข่ายเพื่อสังคม (มพส.) “โครงการคนเห็นคน”  มาเติมข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับ ฝึกทักษะการมองเห็นเครือข่าย โดยกระบวนการระดมจิตใจ (Mind Storming) ซึ่งเน้นรูปแบบกิจกรรมให้ทุกคนได้พูดคุยกันในแบบ “ใจ…มอง…ใจ” และ “สะท้อนความรู้สึกจากประสบการณ์” เพื่อที่จะให้เห็นว่า “เรื่องของใจ” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำเครือข่าย ดังที่หมอแมนกล่าวว่า

“ผมรู้สึกว่าเรื่องเครือข่าย บางครั้งก็เลยภาษาที่จะพูดเหมือนกัน มันมีอะไรมากกว่านั้น มีความท้าทาย มีความปิติ มีอะไรหลายอย่างลอยอยู่ เป็นเรื่องของใจ ผมจึงอยากมาชวน ใช้ใจคุยกัน

“Mind Storming ที่ผมใช้ก็คือ ใช้ตรงนี้เป็นตัวตั้ง เปลี่ยนจากฐานความรู้เป็นความรู้สึก จากเดิมพอเราประชุมปั๊บ เราก็จะเอางานเป็นตัวตั้งเลยใช่มั้ย เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วก็ชวนคนมาเพื่อจะแก้ปัญหา หรือทำให้ระบบมีประสิทธิภาพขึ้น แล้วสิ่งที่เราพบก็คือปัญหาเหล่านั้นก็ยังอยู่ ไม่ได้หนีไปไหน ผมอยากเชื้อเชิญพวกเรา การเปลี่ยนจากการมองปัญหา เหมือนอาหารที่อยู่กลางโต๊ะ แต่ไปมองคนที่อยู่รอบโต๊ะ มองเห็นกันว่า แต่ละคนที่เดินมาตรงโต๊ะ มาทำกิจกรรม ทำไมเขาถึงมา เขามาด้วยเงื่อนไขปัจจัยอะไร เราจะเห็นอกเห็นใจเขาได้ยังไง เราจะช่วยเหลือเกื้อกูล จะจับไม้จูงมือ ว่ามันคลิกกันนะ มันปิ๊งกัน จะทำกิจกรรมต่อได้ยังไง”

ส่วนกระบวนการที่ว่าด้วย การสร้างแผนที่เครือข่าย การมองเห็นเครือข่าย และการวิเคราะห์ประโยชน์ร่วมของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ของ อ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล หรือ อาจารย์หมู จากคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ชวนให้ศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปลงมือทำ ซึ่งอาจารย์หมูอธิบายว่า “เครื่องมือ Social Mapping เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับงานที่เป็นกายภาพไม่ใหญ่มาก เป็นชุมชน เป็นตำบล แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว มีโซเชียลมีเดียเข้ามา คนที่ทำงานไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านในชุมชน เครื่องมือแบบ Social Mapping อาจจะไม่ค่อยสอดคล้อง ผมก็เลยหยิบเอาเรื่องการวิเคราะห์เครือข่าย เรื่องใจ เรื่องความสัมพันธ์มา map ดูว่าเราให้น้ำหนักกับองค์กรที่เราทำงานอยู่ด้วยอย่างไร วางถูกตำแหน่งหรือไม่”

นอกจาก Social Mapping แล้วยังมีกลไกอื่นที่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ ดังนี้

  • การทำความเข้าใจเรื่องของอิทธิพลของเรา (โครงการ) ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเงื่อนไขที่สำคัญในการทำงานภายใต้สภาวะที่ซับซ้อน
  • จัดทำรายการ (List ) รายชื่อภาคีเครือข่ายที่แต่ละโครงการทำงานด้วย
  • ทดลองใช้แนวคิด Boundary partners และ Strategic Partners
  • ทดลองใช้แนวคิด Venn Diagram ประยุกต์

ดังนั้นการอบรมในช่วงของอาจารย์หมูจึงไม่เน้นทฤษฎี แต่เป็นการทำ  Workshop เพื่อฝึกทักษะการมองเห็นเครือข่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

คุณศิริกุล กุลเลียบ หรือ พี่ป้อม ผู้แทนจากเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ได้มาเล่าสู่กันฟังพร้อมฉายวิดีทัศน์เพื่อเป็นกรณีศึกษาการทำงาน “โครงการขับขี่ปลอดภัย”  ที่เริ่มต้นในปี 2532 โดย นพ. วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการอาวุโส และผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น (ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาปี 2555) ต้องรักษาคนไข้จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ส่วนใหญ่บาดเจ็บที่ศีรษะและสมองกระทบกระเทือนรุนแรงจำนวนมากจนถึงกับเอ่ยว่า “เราต้องผ่าคนไข้ไปอีกเท่าไหร่ จนเราตายหรืออย่างไร” เป็นการจุดประเด็นแรกให้ก้าวออกมาศึกษาด้านนี้ เพื่อจะพบข้อมูลจากต่างประเทศว่า “หมวกกันน็อค” คืออุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยลดการบาดเจ็บที่ศีรษะเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์

หลังจากทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยอาจารย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล เป็นผู้นำข้อมูลอุบัติเหตุมาคำนวณดูวิธีสัมฤทธิ์ผลที่ทำได้ง่ายที่สุด พบว่า หากทุกคนสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานจะลดการตายถึง 3,500 คนต่อปี ในปี 2535 จึงนำมาตรการสวมหมวกนิรภัยมาใช้กับบุคลากรในโรงพยาบาลก่อน ขยายไปยังจังหวัด และระดับประเทศ กระทั่งปี  2538 ได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเมื่อครั้งไปดูงานที่โรงพยาบาลขอนแก่น จึงได้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานเมื่อเดือนมกราคม ปี 2539

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คุณศิริกุลต้องการจะสะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อน  “โครงการขับขี่ปลอดภัย” ที่ดำเนินมาได้อย่างประสบผลสำเร็จโดยไม่ต้องอาศัยทุนนั้นมาจากการทำ “เครือข่าย” ที่เข้มแข็ง ทั้งการประสานงานกับทุกภาคส่วนด้วยการสานสัมพันธ์ที่จริงใจ การประชาสัมพันธ์ การทำสื่อสาธารณะที่ตรงใจ จนได้รับความร่วมมืออย่างดีและนำมาสู่ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ “เครือข่าย” ก็ยังควรดำเนินต่อไปเพื่อรักษาโครงการไว้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทิ้งท้ายด้วยบทสรุป วิเคราะห์เครือข่ายความปลอดภัยทางถนน โดย อ. ธวัช หมัดเต๊ะ ที่ปรึกษาพัฒนาการเปลี่ยนแปลง สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่ยกสำนวน “หลายหัว ย่อมดีกว่าหัวเดียว” แทนนิยามคำว่าเครือข่าย ได้ย้ำอีกครั้งถึงวงจรชีวิตของเครือข่ายว่ามี 5 ระยะ คือ ก่อตัว รุ่งเรือง ขยายตัว ถดถอย และฟื้นตัว โดยการดำเนินการเครือข่ายต้องมีทั้งการ “ร้อยใจ” (Mind) และ “ร้อยประเด็น” (Matter) ส่วนประเด็น Road Safety (เครือข่ายถนนปลอดภัย) ใช้หลัก 6 E

  • Enforcement : การบังคับใช้กฎหมาย
  • Education : การให้ความรู้สร้างความตระหนัก
  • Engineering : วิศวกรรมโยธา (กายภาพของท้องถนน)
  • Empowerment : เสริมพลังคนทำงาน
  • Emergency Medical Service : การดูแลผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน
  • Evaluation & Information : ข้อมูลและการประเมินผล

การเข้าอบรม 2 วัน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่การดึงประเด็นสำคัญมาให้เรียนรู้และการนำเสนอให้เข้าใจได้ง่าย ช่วยให้ผู้เข้าอบรมมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นของเครือข่ายในมิติที่ชัดเจนจนสามารถนำไปปรับใช้กับงานพัฒนาสังคมที่ตนดำเนินการอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงความหวังที่เรืองรองในการพัฒนาสังคมไทยต่อไปวันข้างหน้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *