แนวคิดการจัดเวทีระดมจิตใจ…Mind Storming

แนวคิดการจัดเวทีระดมจิตใจ…Mind Storming

การประชุมในรูปแบบ “สุนทรียสนทนา” หรือ dialogue ซึ่ง เดวิด โบห์ม นักฟิสิกส์ควอนตัม ผู้ได้ชื่อว่าเป็นไอน์สไตน์คนที่สองเป็นผู้คิดค้นเมื่อหลายสิบปีมาแล้วอาจยังใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนถอยห่าง ปล่อยให้ความขัดแย้งเข้ามาแทรกกลาง กระแส “การฟังด้วยใจ” จึงได้เริ่มผลิบาน

นายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา หรือ หมอแมน ผู้บุกเบิกการจัดเวทีระดมจิตใจ หรือ Mind Storming กลยุทธการประชุมที่ใช้ ใจ…มอง…ใจ ได้นำสุนทรียสนทนามาปรับใช้ในกระบวนการ โดยผสมผสานเข้ากับเครื่องมืออื่นอย่าง “การสะท้อน” (reflection) และ “การฟังหยั่งลึก” (deep listening) เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เข้าร่วมเวที และนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน

หลังจากเคยผ่านประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายมาก่อนหน้านี้ทั้งพนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการกรมปศุสัตว์ ช่วยราชการที่สภาพัฒน์ฯ ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ช่วยราชการสำนักเลขานุการนายกฯ เพื่อทำวิจัยชุมชนเข้มแข็ง เป็นกรรมการมูลนิธิพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป) โดยต้องข้องเกี่ยวกับการจัดเวทีประชุมและเวทีฝึกอบรมมาตลอด ทำให้เขาอุทิศ ทุ่มเท จดจ่อ จนกระทั่งค้นพบการประชุมรูปแบบใหม่

ทุกวันนี้ หมอแมน ทำหน้าที่ ผู้เหนี่ยวนำกระบวนการ หรือ Mentor ในเวทีประชุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้ Mind Storming เป็นเครื่องมือหลัก ด้วยปรารถนาที่จะเห็นผู้เข้าร่วมเวที (Mentee) จับไม้จูงมือกันออกไปทำในสิ่งที่อดไม่ได้ที่จะทำ ตลอดจนค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือ “คู่มือเล่มที่หนึ่ง”

MIND STORMING : The meeting in the 3rd ages

ระดมจิตใจ : รูปแบบการประชุมในยุคที่ 3

หนังสือที่ทำให้คุณมองการประชุมเปลี่ยนไป และได้ผลลัพธ์ต่างไปจากเดิมจนคาดไม่ถึง คำโปรยบนหน้าปกที่บอกถึงจุดประสงค์ของผู้เขียนซึ่งต้องการสะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนเวทีการประชุมสู่รูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ตามที่ น.สพ.ปกรณ์ สุวรรณประภา กล่าวไว้

“ผมพบว่า รูปแบบการประชุมไม่เพียงถูกใช้กันในห้องประชุม แต่มันเป็นตัวบงการประวัติศาสตร์ตั้งแต่หน้าแรกของมนุษยชาติ การจัดตั้งโรงเรียน ศาสนสถาน หน่วยงานและองค์กรในรัฐบาลล้วนจำลองรูปแบบการประชุมในอดีต

“ฤทธิ์เดชของโรงงาน บริษัทคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและความสะดวกสบายเท่าที่เราจะหาได้บนโลกใบนี้ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบการประชุมในช่วงร้อยปีหลัง และรูปแบบนี้ กลายเป็นตัวเร่งเร้าให้คนรุ่นเรามาถึงทางตันด้านจิตใจ

“หนังสือเล่มนี้จึงไม่จำกัดเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับการประชุม แต่ยังเชื้อเชิญคนที่ถามหาคุณค่า ที่แท้ของชีวิตมาร่วมกันฝ่าทางตันออกไปสู่ภพภูมิใหม่ในปัจจัยเงื่อนไขชีวิตที่คุณมี ณ จุดที่คุณยืน”

หมอแมนให้คำจำกัดความของ Mind Storming ไว้ดังนี้

“เป็นหนึ่งในการประชุมรูปแบบใหม่ที่เหนี่ยวนำให้เราคิดต่างออกไป ทำต่างออกไป และได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป”

ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาภายนอก แต่ยังทำให้เข้าถึงคุณค่าแท้ภายในตนเองและนำศักยภาพที่ซ่อนเร้นออกมาใช้อย่างได้ผล ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายและขัดแย้งรอบตัว”

ส่วนรายละเอียดภายในเล่มนั้นหาใช่วิชาการหนักสมองแต่อย่างใดไม่ แม้จะบอกเล่าอย่างมีหลักการ หากอ่านแล้วเพลิดเพลินด้วยตัวอย่างเรื่องเล่าสนุกๆ พร้อมนำแนวคิดของบุคคลสำคัญมาเติมไว้ให้เข้าใจหลักคิดต่างๆ ได้ชัดเจน นอกจากนั้นยังให้ความรู้ในเรื่องของรากศัพท์อันเป็นที่มาของคำศัพท์ เช่น “ในทศวรรษ 1950 คอมพิวเตอร์ รากศัพท์มาจากภาษาละตินแปลว่า เครื่องคำนวณ มันถูกใช้ทำหน้าที่สมองกลควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน ก่อนหลุดออกมาเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล…” อีกทั้งภาพประกอบยังสวยงามเพิ่มความน่าอ่าน

นี่เป็นแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของเนื้อหาสาระเท่านั้น หากต้องการเสพอาหารสมองที่ว่าด้วยแนวคิดของยุคสมัยใหม่ ผู้ใฝ่รู้คงต้องลงมืออ่านด้วยตัวเอง แล้วจะพบคำตอบเองว่า…ถึงเวลาสลัดทิ้งรูปแบบการประชุมเก่าๆ เดิมๆ สุดล้าหลังไปได้แล้วหรือยัง

(ผู้เขียน : น.สพ.ปกรณ์ สุวรรณประภา / สำนักพิมพ์ : มูลนิธิวิถีสุข / ราคา : 245 บาท)

 

MIND STORMING : หิน สาม ก้อน

THREE LUMPS OF ROCK

คู่มือเล่มที่สองนี้เป็น หลักการจัดเวทีระดมจิตใจ สำหรับ ผู้เหนี่ยวนำกระบวนการ เป็นเสมือนบทเรียนต่อเนื่องจากคู่มือเล่มแรก ซึ่งขยายความเพิ่มเติมว่า Mind Storming ไม่ใช่การสนทนาแบบเรื่อยเปื่อย แต่เป็นการสนทนาที่เปี่ยมพลัง สง่างาม เรียบง่าย เพื่อทะลุทะลวงความเชื่อที่ครอบงำมนุษยชาติตั้งแต่ในยุคต้น ก้าวข้ามปัญหาที่จำเจ นำไปสู่การยกระดับความคิด และอดไม่ได้ที่จะลงมือทำ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่ตามที่ปรารถนา”

ส่วน หลักการหินสามก้อน เป็นหัวใจของ Mind Storming ที่ผู้เหนี่ยวนำกระบวนการ (mentor) ควรใส่ใจและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ หลักการดังกล่าวเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ประจักษ์แจ้งในตัวเอง มิใช่ประดิษฐ์ขึ้น แต่เป็นการค้นพบใหม่

หนังสือ หินสามก้อน เล่มนี้เน้น “ประสบการณ์ตรง” มากกว่า “ความรู้” โดยใช้กระบวนการเหนี่ยวนำให้ “ความรัก” เพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นในเวที ให้ผู้เข้าร่วมเวทีสัมผัสได้ถึงความรักในหัวใจตนเอง และนำไปสู่การลงมือกระทำบางสิ่งที่หัวใจเรียกร้อง โดยหลักการ หินสามก้อน ที่ว่านี้ได้แก่ หินก้อนล่าง ซึ่งเป็นเหมือนฐานหลัก คือ “สภาวะความเป็นเพื่อนมนุษย์” หินก้อนกลาง คือ “สภาวะความรักแบบเพื่อนมนุษย์” และ หินก้อนบน คือ “สภาวะอานุภาพแห่งความรักแบบเพื่อนมนุษย์”

หินทั้งสามก้อนนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อเกิดการพูดคุยด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรัก ความเข้าใจในกันและกัน อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดได้ต่อไป แต่จะมีรายละเอียดน่าสนใจแค่ไหน เชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านด้วยตัวเองเท่านั้นจึงจะรู้ซึ้งและเข้าใจ กระทั่งสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานจริงได้ด้วยดี

(ผู้เขียน : น.สพ.ปกรณ์ สุวรรณประภา / สำนักพิมพ์ : มูลนิธิวิถีสุข / ราคา : 245 บาท)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *