จุดประกาย พลังเยาวชน ขับเคลื่อนอนาคต

จุดประกาย พลังเยาวชน ขับเคลื่อนอนาคต

สีสันกิจกรรมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 – 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในชื่อว่า กิจกรรมค่าย “เยาวชนพลเมืองจิตอาสาแห่งศตวรรษที่ 21 เท่าทันการบริโภค” ที่เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานเขตราชเทวี กลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมเขตราชเทวี 25 ชุมชนในเขตราชเทวี ภาคธุรกิจในเขตราชเทวี และสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เดอะเนทเวิร์ค) โดยนัดรวมตัวกันที่ห้องประชุม ชั้น 9 สำนักงานเขตราชเทวี นับว่าได้ผลที่น่าปลื้มไม่น้อยทีเดียว

ที่ว่า “น่าปลื้ม” ไม่ใช่แค่ความสนุกสนานของตัวแทนเยาวชนจาก 25 ชุมชนในเขตราชเทวีที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ แต่หากดูที่ “วัตถุประสงค์” ซึ่งตั้งใจให้เป็น “การขับเคลื่อนการสร้างและปลูกฝังกลุ่มเยาวชนในชุมชนราชเทวี ให้มีจิตอาสาและเป็นกลุ่มพลเมืองคนสำคัญที่สามารถเป็นแกนนำในการทำงานอาสาในชุมชนของตนเองได้ต่อไปในอนาคต” ถือเป็นการจุดเทียนดวงเล็กๆ ที่จะกลายเป็นแสงสว่างสดใสในวันข้างหน้า

การบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ย่อมต้องไม่มองข้าม “บรรยากาศ” ของความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย โดยเฉพาะภาพที่อาจไม่ได้เห็นง่ายๆ คือผู้อาวุโสอย่าง คุณลักษณา โรจน์ธำรงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตราชเทวี และ คุณจุฑามาศ แสงวิเชียร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตราชเทวี กล่าวเปิดงานด้วยการนั่งบนพื้นร่วมกับเด็กๆ หลังจากนั้น คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ ซึ่งรับหน้าที่หัวหน้าวิทยากรจึงนำเข้าสู่กระบวนการของกิจกรรมค่าย โดยเริ่มจากการฉายวิดีทัศน์แนะนำกิจกรรมค่ายฯ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ของน้องๆ เยาวชนเขตราชเทวี บอกเล่าถึงเนื้อหากิจกรรมค่ายย่อย นอกจากค่ายที่จัดนี้ คือ ค่าย More Film (เทศกาลหนังแห่งแรงบันดาลใจ) ค่าย Land Design ค่าย Art Space ค่าย Film Café (ค่ายหนังเพื่อขับเคลื่อนสังคม) ค่าย Write Club ค่าย Stage Performance Art ค่าย Silicon Valley (สร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคม) และ ค่าย Noble Island (ค่ายวิชาการ) ซึ่งถือเป็นโอกาสให้เยาวชนที่มาร่วมในค่ายฯ ครั้งนี้ได้มีส่วนในการกำหนดค่ายใหม่ๆ ตามแต่ความสนใจของพวกเขา เช่น ค่ายการเกษตร ค่ายสอนทำอาหาร เป็นต้น

ก่อนจะเริ่มกิจกรรมก็ต้องเรียนรู้มารยาทการอยู่ร่วมกันในค่าย ทั้ง การปิดโทรศัพท์ ไม่คุย ไม่เล่น หรือปลีกตัวออกจากกลุ่มไปอยู่คนเดียว แล้วจึงเริ่มด้วย “เกมละลายพฤติกรรม” ประกอบด้วย “เกมเหรียญ” ที่กำหนดให้เด็กผู้หญิงเป็นเหรียญ 50 สตางค์ เด็กผู้ชายเป็นเหรียญ 1 บาท แล้วต้องเข้ามาจับกลุ่มรวมกันตามจำนวนที่ตั้งโจทย์ เช่น 5 บาท ทำให้เด็กใช้ความคิดในการคำนวณพร้อมกับรู้จักเสียสละด้วยการออกจากกลุ่มเมื่อจำนวนเกิน และ “เกมลูกบอล” ที่ส่งลูกบอลโดยใช้เวลาน้อยที่สุดและไม่ให้ลูกบอลตกพื้น

จากนั้นก็เป็นช่วงเวลาของกิจกรรมสำคัญที่แม้จะแตกต่างในรูปแบบ หากล้วนแล้วแต่ให้ข้อคิดในการปรับตัวเข้ากับสังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้ง “กิจกรรม ฟัง…ฟัง…ฟัง” เรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดีเพื่อเข้าใจผู้อื่น “แรงบันดาลใจในการทำสื่อโฆษณา” พี่ภัฎ – สุภัฎ สิกขชาต ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโฆษณาได้มาพูดคุยให้น้องๆ ได้รู้จักและเข้าใจอาชีพนี้ มีการแบ่งกลุ่มนำเสนอโฆษณา ทำให้เห็นศักยภาพการทำงานเป็นทีมและการแสดงความคิดเห็น “เกมบ้านแห่งลมหายใจ” มี ครูน้อง – ธนัณธร เปรมใจชื่น เป็นวิทยากรหลักมานำปฏิบัติการที่ใช้ “ลมหายใจ” เป็นสัญลักษณ์ ด้วยการให้หาตำแหน่งของตัวเองเป็น “บ้าน” แล้วเคลื่อนที่แทนการออกจากบ้านโดยจะ “กลั้นหายใจ” หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ให้ทั้งหมด 6 รูปแบบวิธีการเล่น แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนจุดมุ่งหมายให้ได้เห็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต มีความอดทน ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักวางแผน

สำหรับ “เกมวาดภาพความฝัน” ไม่ได้เน้นวาดรูปสวย แต่ช่วยให้คิดคำนึงถึงความเคารพกันและกัน หรือ “เคารพสิทธิ์” ที่เป็นหัวใจสำคัญของหลักประชาธิปไตยในการอยู่ร่วมกันในสังคม และตบท้ายสำหรับวันแรกด้วย “กิจกรรมให้แรงบันดาลใจในอาชีพเกษตรกร” โดย พี่พงษ์ อาสาสมัครซึ่งเลือกเส้นทางสายเกษตรกร มาแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดให้น้องๆ ได้รับรู้

ในกิจกรรมวันที่สองนั้น จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ที่คุ้นเคยกันมากขึ้นหลังจากผ่านกิจกรรมวันแรกมาด้วยกัน ทำให้เกิดการแบ่งปัน ช่วยเหลือ เปิดใจกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในวันนี้จึงเน้นที่การพูดคุยเป็นหลัก ให้เด็กๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น การระมัดระวังบริโภคเครื่องดื่มที่จำหน่ายในท้องตลาด การใส่ใจในเรื่องของภาชนะสำหรับเครื่องดื่มที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม การพูดคุยถึงรายละเอียดของโครงการย่อยที่เปิดประเด็นไว้ในวันแรก และปิดท้ายค่ายฯ ด้วยกิจกรรม ทั้ง เกมนักรบประตูเมือง เกมตี่ เกม 70/70 เกมปมมนุษย์ เกมสามเหลี่ยมด้านเท่า ตลาดนัดไอเดีย ซึ่งแต่ละช่วงเกมคั่นด้วยการ “เปิดกระดาษ” ที่ให้เขียนข้อดีของตัวเองแล้วแบ่งปันกับเพื่อนๆ โดยสิ้นสุดที่ “เกมเช็คเอาท์เปิดกระดาษใบที่ 4”

อ่านรายละเอียดรายงานกิจกรรมค่าย “เยาวชนพลเมืองจิตอาสาแห่งศตวรรษที่ 21 เท่าทันการบริโภค” ฉบับเต็มได้ที่ รายงานกิจกรรมค่ายเยาวชนพลเมืองจิตอาสาแห่งศตวรรษที่ 21 เท่าทันการบริโภค

ชมคลิปบรรยากาศสนุกสนานของกิจกรรมค่าย “เยาวชนพลเมืองจิตอาสาแห่งศตวรรษที่ 21 เท่าทันการบริโภค” ของเยาวชนเขตราชเทวี

การเริ่มต้นฝึกฝนเยาวชนให้มี “จิตอาสา” ไม่ได้มาจากตำราเรียน หากต้องให้พวกเขาได้สัมผัสด้วยตัวเอง รู้สึกด้วยตัวเอง เพื่อที่จะลงมือปฏิบัติจากใจของเขาเอง ซึ่งวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีที่สุดนั้นมาจากกิจกรรมเกมที่เหมือนเป็นการเล่นสนุก แต่แท้ที่จริงแล้ว แฝงข้อคิดให้ได้เรียนรู้ไว้มากมาย เป็นการเตรียมพร้อมให้เยาวชนตัวน้อยๆ ของเราได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม และร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ต่อไป

เกมบ้านแห่งลมหายใจ

ให้เรียนรู้การดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันในสังคมจากกติกาที่ว่า ทุกคนสามารถหายใจได้มากเท่าที่ต้องการหากอยู่ในบ้านของตนเอง แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกนอกบ้าน ต้องกลั้นลมหายใจ และเมื่อรู้ตัวว่าลมหายใจใกล้จะหมดแล้ว ให้รีบกลับเข้าบ้านของตนทันที

เกมวาดภาพความฝัน

แบบทดสอบแห่งการเคารพกันและกัน ด้วยการใช้สีชอล์คสีโปรดวาดภาพบนกระดาษ ด้วยโจทย์ “ภาพตนเองในอีก 10 ปีข้างหน้า” จากนั้นก็ให้เพื่อนวาดภาพบนกระดาษของเราตามกฎที่ตั้งไว้ เพื่อจะพบว่าแต่ละคนมีการ “เคารพผู้อื่น” มากน้อยต่างกัน

เกมนักรบประตูเมือง

สงครามที่ใช้อาวุธคือมือข้างเดียว “เป่ายิงฉุบ” ให้รู้แพ้ชนะเพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาไหวพริบและการทำงานเป็นทีม มาดูกันว่า แค่เก้าอี้ 4 ตัวพัฒนาการใช้ความคิดได้อย่างไร

เกมตี่

มุ่งเน้นความหมายของการทำงานเป็นทีม ผ่านเกม “ตี่จับ” ซึ่งแต่ละทีมต้องผลัดกันส่งตัวแทนข้ามไปยังอีกฝั่ง เพื่อจับตัวเชลยมาไว้ยังทีมของตนเอง ด้วยข้อแม้ที่ว่า ทันทีที่ตัวแทนก้าวออกจากอาณาเขตของตนไปยังอาณาเขตของฝั่งตรงข้าม ต้องพูดคำว่า “ตี่” ให้ต่อเนื่องตลอดเวลา หากหยุดเมื่อไรต้องตกเป็นเชลยของอีกฝ่าย

เกม 70/70

ด้วยกระดาษคนละหนึ่งแผ่น และสีเมจิคคนละหนึ่งด้าม เด็กจะได้ “เห็นตัวเอง” จากการฉีกกระดาษเป็น 4 ชิ้น และเขียนเลข 1-4 บนกระดาษ จากนั้นก็เขียนข้อดีหรือสิ่งที่โดดเด่นของตัวเองลงบนกระดาษแผ่นละ 1 ข้อ เพื่อนำไปเปิดในช่วง “เปิดกระดาษ”

เกมปมมนุษย์

สร้าง “ปม” ด้วยการจับมือกันแล้วสลับที่ ไขว้แขนกันไปมา จนพันกันยุ่งเหยิง จากนั้นก็ต้องคลายปมให้กลับคืนเป็นรูปวงกลมเหมือนเดิม โดยห้ามใช้เสียงในการสื่อสาร สะท้อนให้เห็นว่าคนที่ติดอยู่ในปมมักเริ่มแก้ปมที่อยู่ใกล้ตัวหรือเห็นว่าง่าย และการสื่อสารนั้นมีความสำคัญกับการแก้ปัญหา

เกมสามเหลี่ยมด้านเท่า

ให้ได้ตระหนักว่าเราทุกคนมีความเชื่อมโยงกัน ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีสังคมหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทุกการกระทำของเราส่งผลต่อใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ ผ่านเกมที่กำหนดตำแหน่งการยืนให้อยู่ตรงกลางระหว่างเพื่อน 2 คนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า

ตลาดนัดไอเดีย

แสดงไอเดียสร้างสรรค์แบบนักพัฒนาด้วยการแบ่งกลุ่มตามชุมชน แล้วปรึกษาหารือ ในโจทย์ที่ว่า “หากตนเองมีอำนาจมากพอที่จะทำอะไรก็ได้ ตนจะทำอะไรให้กับชุมชน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *